วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา หักกลบลบหนี้ มาตรา 341 344

มาตรา 341, 344

ฎ.5970/2555  ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติ การหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในข้อใดเลยว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เมื่อหนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นหนี้เงินและต่างถึงกำหนดที่จะชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ให้ความยินยอม


ฎ.3486/2554  สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืนไม่ใช่เป็นการจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 747 หากแต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้
          การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้และโจทก์กับพวกให้การต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกชำระหนี้แล้ว และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ไม่


ฎ.145/2554  คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างในงานที่ทำให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยฎีกาขอให้นำเงินค่าปรับที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระแก่จำเลยในอีกคดีหนึ่งมาหักกลบลบหนี้ในคดีนี้ ดังนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ต้องชำระค่างานแก่โจทก์กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระค่าปรับแก่จำเลยเกิดจากสัญญาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน จึงหาใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 344 ห้ามมิให้หักกลบลบหนี้หากสิทธิเรียกร้องนั้นยังมีข้อต่อสู้อยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ยกขึ้นปรับแก่คดีไม่ เมื่อจำเลยและโจทก์ต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันในแต่ละคดีซึ่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องกระทำแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ จำเลยจะขอหักหนี้ได้เพียงใดหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

ฎีกา การปลดหนี้ มาตรา 340

มาตรา 340

ฎ.14144/2553  จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247


ฎ.2111/2551  เจ้าหนี้และลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229, 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ในคดีแพ่ง ก็คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดหนี้ไปเท่านั้น ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ดังนั้น หากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป และมิใช่กรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 101 เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้


ฎ.2551/2544  จำเลยและ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การชำระหนี้อย่างอื่น มาตรา 321

มาตรา 321

ฎ.1528/2554  ป.พ.พ. มาตรา 761 มิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน และในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้ โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินปันผลที่รับไว้แก่โจทก์

ฎ.9053/2552  ตาม ป.พ.พ. หมวด 5 เรื่อง ความระงับหนี้ มาตรา 321 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าชำระหนี้ด้วยออก - ด้วยโอน - หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คพื่อชำระหนี้ค่าจ้าง เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการที่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อศาลแขวงธนบุรี ในการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 โจทก์ฟ้องคดีนี้นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


ฎ.10227/2551  การนำสืบการชำระหนี้โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบได้

ฎีกา การยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ มาตรา 308

มาตรา 308

ฎ.5292/2555   ข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอนซึ่งยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ ให้การ นำสืบ และอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินกู้ ไม่ได้เป็นหนี้ตามฟ้อง เป็นการยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นอ้างได้

วิธีการโอนสิทธิเรียกร้อง มาตรา 306

มาตรา 306


ฎ.12753/2555  การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าช่วงระหว่าง ว. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เช่าหรือผู้โอนสิทธิกับโจทก์ผู้รับโอนสิทธิ เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว การโอนสิทธิย่อมสมบูรณ์ โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยชอบ และการที่โจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิดังกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ทราบเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จึงยกการรับโอนสิทธิดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้และเรียกค่าเช่าช่วง ที่จำเลยค้างชำระจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง

ฎ.9691/2554  แม้ขณะจำเลยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้อง จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ชนะการประมูลงานรับเหมาก่อสร้างได้ โดยยังมิได้ทำสัญญาจ้างและเริ่มทำงาน ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างเมื่อทำงานเสร็จแล้ว สิทธิดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และเมื่อ ป. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่วแล้ว พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตรา ถือว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้

ฎ.2193/2554  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศไทย) แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ถึงที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และภายหลังจำเลยที่ ขายโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีต่อจำเลยที่ 6 และที่ 7 แก่โจทก์ ก่อนฟ้องคดีนี้ทนายความโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ตามฟ้องที่จำเลยที่ 6 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้นั้นให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 6 ได้รับแล้ว และจำเลยที่ 6 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2541 ปฏิเสธว่าไม่เคยซื้อสินค้าและไม่เคยเป็นหนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ หนังสือของทนายโจทก์ที่ทวงถามให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ตามฟ้องก่อนที่จะฟ้องคดีนี้ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก แล้ว

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การโอนสิทธิเรียกร้อง มาตรา 303

มาตรา 303
ฎ.3845/2556 การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้รวมทั้งหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามมาตราดังกล่าว ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2540 ก็หาได้หมายความว่าคู่สัญญาไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายที่ตราไว้เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด


ฎ.2520/2556  การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ในค่าก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และยังไม่ทราบจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ จึงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้จำนวน 10,250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ทั้งหมดตามสัญญาจ้างเผื่อไว้ โดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าหากเงินที่ได้รับโอนตามสิทธิเรียกร้องเกินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ให้โจทก์คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 จะมีข้อตกลงว่า หากเกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับโอนอันเนื่องมาจากการรับโอนสิทธิในการรับเงินรายนี้ ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทั้งสิ้นก็ตาม ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันยอมชำระหนี้แก่โจทก์แม้จะได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์