วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

ฎีกา ความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง  ความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่
มาตรา 19

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13379/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 19(3) (5) วรรคหนึ่ง, (ก) วรรคสาม, 78(1), 86, 226
ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดสองคน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่ จากที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะเดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและ ท. พร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8545/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 19(1), 19(ก) วรรคสอง, 120, 158(5)
เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7445/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(7), 19(3), 19(4), 39(2)
การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่างๆ แล้วไม่โอนเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วมที่อำเภอกระทุ่มแบน ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิด อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4337/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 24(1), 120
เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยและ ป. อีก จนจับกุมจำเลยและ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1825/2552
ป.วิ.อ. มาตรา 19(4) วรรคหนึ่ง, 19(ก) (ข) วรรคสอง, 19(2)

ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา ความผิดเกิดในท้องที่เดียวตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง  ความผิดเกิดในท้องที่เดียว
มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17581/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 18, 192
แม้เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบึงกุ่ม ซึ่งมีร้อยตำรวจโท อ. เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 ส่วนพันตำรวจตรี ต. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็สืบเนื่องมาจากพลตำรวจตรี ว. ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนศูนย์สอบสวนคดีพิเศษประจำกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยให้พันตำรวจตรี ต. ปฏิบัติราชการที่ศูนย์สอบสวนคดีเด็ก สตรี และคดีพิเศษ เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของทางราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พันตำรวจตรี ต. ผู้ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  876/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 18
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะ ร. เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 นั้น เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่ ร. ประจำอยู่ ร. จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10769/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง, 120
ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 50 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ คดีนี้พนักงานอัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวก ซึ่งหนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำกล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ดังนั้น แม้จะไม่มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวน โดยไม่ปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2803/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 18
การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่เกิดจากการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7475/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 18, 120

ร้อยตำรวจเอก ส.เป็นข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นภายในเขตอำนาจของตนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างสอบสวนจะมีพนักงานสอบสวนซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนร่วมนั่งฟังอยู่ด้วยก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป เมื่อพันตำรวจโท น. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ พันตำรวจโท น. ย่อมมีอำนาจสอบสวนก่อนร้อยตำรวจเอก ส. โอนสำนวนการสอบสวน และหลังจากนั้นร้อยตำรวจเอก ศ. ยังคงมีอำนาจสอบสวนเพื่อช่วยเหลือพันตำรวจโท น. ได้ ดังนั้น การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา คำสั่งระหว่างพิจารณาตามป.วิ.อ.มาตรา 196

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง คำสั่งระหว่างพิจารณา
มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1856/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 196, 225
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9377/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 196, 225
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้นาย ช. และนาย ธ. ผู้ร้องทั้งสองเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7227 - 7228/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 23
การขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยที่ 4 ย่อมอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5994/2550
ป.วิ.อ. มาตรา 196
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลคืนรถยนต์บรรทุกของกลางและขอให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปเก็บรักษาไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปดูแลรักษาไว้ชั่วคราว และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่ร้องขอคืนของกลางออกจากสารบบความโดยให้รอไว้พิจารณาเมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสี่และขอริบรถยนต์บรรทุกของกลางถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปดูแลรักษาไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีของผู้ร้องเสร็จสิ้นไป เพราะต้องมีการไต่สวนคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องอีก กรณีต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 196 ที่ห้ามผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแก่คดี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5985/2550
ป.วิ.อ. มาตรา 166, 196, 225
หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ดังนี้ คำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 จำเลยจึงฎีกาคำสั่งดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2213/2550
ป.วิ.อ. มาตรา 196

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รอการไต่สวนมูลฟ้องไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลที่สุดของคดีแพ่งของศาลชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยได้สั่งไว้ด้วยว่าเมื่อคดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วให้โจทก์แถลงต่อศาลเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปภายใน 1 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด เพียงแต่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เป็นคำสั่งที่ไม่ทำให้ประเด็นแห่งคดีเสร็จไปแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 46

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5452/2556
ป.วิ.อ. มาตรา 46
การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น เป็นกรณีที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นที่คู่ความยังคงโต้แย้งกันอยู่และเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลในคดีส่วนอาญาจะต้องวินิจฉัย ทั้งนี้เพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อคดีในส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนกระทำการโดยประมาท คดีส่วนแพ่งจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามสัดส่วนแห่งความประมาทของตน การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด แม้ต่อมาความจะปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนอาญาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจจะฎีกาได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งเป็นการต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7791/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1, 44/2, 46, 195 วรรคสอง, 225
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมิได้มีการพรากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร การพิพากษาคดีส่วนแพ่งของจำเลยต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่าจำเลยไม่ได้พรากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสาม ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4928/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1, 46
ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอื่นไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอื่นแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1365/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 46
แม้คดีในส่วนแพ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้กระทำความผิด ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ยกคำขอดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4410/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 46, 218 วรรคหนึ่ง

เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้ไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตีและร่วมกันชกต่อยทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง


ฎีกา การขอค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง การขอค่าสินไหมทดแทน
มาตรา 44/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17584/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จ. มารดาผู้ตายจึงไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11224/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44/1
ป.พ.พ. มาตรา 440
การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9665/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 40, 44/1
ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 245(1)
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้เสียหายในอันที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง แม้ได้ความว่าโจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสแต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและพิพากษายกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังนี้ จึงชอบที่จำเลยที่ 1 จึงพึงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่โจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นด้วยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยคดีส่วนแพ่งและยังคงบังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 กรณีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  880/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44, 44/1, 43, 50
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้

ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  295/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ 390 ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะเหตุรถยนต์ที่เฉี่ยวชนกระเด็นมาชนรถยนต์ของผู้ร้องที่จอดอยู่ ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายหรือเป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43, 151 และ 157 เป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5419/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 44/1
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ซึ่งมาตรา 2(4) ให้ความหมายของคำว่า ผู้เสียหายว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนในการกระทำความผิดทางอาญาด้วยดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6576/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4), 44/1

ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ผู้เสียหายจะเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ก็ตาม เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) และคำขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนย่อมตกไปด้วย จึงต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

ฎีกา อัยการขอคืนหรือใช้ราคาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง ฎีกา อัยการขอคืนหรือใช้ราคา
มาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22267/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(7), 43, 44, 123
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15831/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43
โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กะบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รถยนต์คันนี้โจทก์ร่วมชำระเงินดาวน์และเงินผ่อนไป 196,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11224/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44/1
การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4275/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 47
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 43
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  880/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44, 44/1, 43, 50
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้

ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12779/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 78, 92(4), 195 วรรคสอง

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710 บาท คิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1 จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้คืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้


คดีต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่องคดีต้องห้ามอุทธรณ์
มาตรา  218


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  18520/2555

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนในขณะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็กโดยมีอาวุธปืนด้วยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนว่าจำเลยมีอาวุธปืนในการกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6597/2555

          คดีนี้ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง 140 วรรคแรก และวรรคสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสามด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 140 วรรคแรก ไม่แตกต่างกันและไม่มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 138 วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินสองปี ส่วนมาตรา 140 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินห้าปีและตาม ปอ. มาตรา 140 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 140 วรรคแรก ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้บทลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5019/2555

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 266 (3), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3), 341 ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกง จ. โดยไม่ได้แก้โทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (3) คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษความผิดในบทที่มีโทษหนักที่สุดอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1303/2555

          การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น

          ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย

          คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10648/2554

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษจำคุกจำเลย กระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี 16 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8750/2554

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 182 กระทง เป็นจำคุก 364 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 และมาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะบทลงโทษเท่านั้น มิได้แก้ไขกำหนดโทษ ถือว่า เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเพียงคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นปัญหาข้อเท็จจริง

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ประกอบมาตรา 83 แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับยักยอก มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้

          แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 อันเป็นความผิด         ยอมความได้ แต่เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4410/2554

          คดีนี้ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษและเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องโดยระบุวรรคของ มาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบทบัญญัติที่อ้างอิงประกอบภายในวงเล็บ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

          เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้ไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตีและร่วมกันชกต่อยทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1260/2554

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80, 83 จำคุก 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13379/2553

          คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 254,155.78 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนไม่เกินหนึ่งปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษปรับสถานเดียวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงแต่กำหนดวิธีการเพื่อการบังคับคดีในกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับเท่านั้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ไม่สมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 3 สถานเดียว แต่ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11981/2553

          ป.อ. มาตรา 285 เป็นเหตุฉกรรจ์หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก ประกอบมาตรา 285เป็นลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก แม้จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  20100/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4)
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19016/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้จำเลยจะยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ก็หาทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  18079/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(6)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก แต่ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานรับของโจร เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และแม้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดฐานรับของโจร แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 วางแผนโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ความผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนหุ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นความผิดฐานร่วมยักยอกตามฟ้อง ฉะนั้น คดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขาดอายุความแล้วเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13838/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4)
คดีก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ท. โจทก์มิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เห็นได้ว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12675/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 15, 39(2), 185(5)
ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า จำเลยกับผู้เสียหายสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงขอถอนคำร้องทุกข์ นั้น ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของพนักงานอัยการและโจทก์ร่วมก็ไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการกระทำที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับยกเว้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) จะต้องเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กหญิงยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน แต่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมแม้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกัน การกระทำของจำเลยก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7445/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
หนังสือรับสารภาพเป็นเพียงเอกสารที่จำเลยรับว่า ไม่ได้นำเงินจำนวน 3,266,808 บาท ส่งคืนโจทก์ร่วม ยอมรับว่าได้กระทำผิดจริง และยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม โดยยินยอมให้ยึดถือที่ดินและรถยนต์ไว้ก่อน ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย  จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5868/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341 ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้อง ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ระหว่างพิจารณาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่า จำเลยได้บรรเทาผลร้ายให้แก่โจทก์แล้ว คณะกรรมการโจทก์มีมติให้ถอนฟ้องจำเลยและไม่ติดใจว่ากล่าวคดีนี้อีก จำเลยไม่คัดค้านและท้ายคำร้องลงลายมือชื่อจำเลยไว้ด้วย คำร้องขอถอนฟ้องโจทก์เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5410/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4)
รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6844/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 2(7), 39(2)
จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยมีคำร้องของผู้เสียหายแนบท้ายมีความว่า จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย โจทก์รับสำเนาแล้วมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คัดค้านว่าคำร้องของผู้เสียหายไม่เป็นความจริงหรือไม่ถูกต้องประการใด เมื่อคำร้องดังกล่าวมีข้อความสรุปได้ว่า ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงมีลักษณะเช่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์

แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องจะเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงซึ่งยอมความไม่ได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก, 80, 83 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาที่ว่าจำเลยกระทำในลักษณะเป็นการโทรมหญิงจึงยุติไป ในชั้นนี้หากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดก็ลงโทษจำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 281 เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์แล้ว ย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยอมระงับไปในตัว ไม่มีผลบังคับอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5135/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4), 158(5), 161, 162, 163
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13412/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 39(2), 43
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือให้เงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย



ฎีกา การดำเนินคดีต่างผู้ตายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 29

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง การดำเนินคดีต่างผู้ตาย
มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11076/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 29
ตามคำร้องของทนายโจทก์ที่ 2 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ทนายโจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 2 ในฐานะตัวแทนเพื่อไม่ให้กระบวนพิจารณาเสียหายเท่านั้น หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือภริยาของโจทก์ที่ 2 ประสงค์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาโดยทนายโจทก์ที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนและลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาเช่นนี้ เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนับจนถึงเวลาที่ทนายโจทก์ที่ 2 ยื่นฎีกาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ทนายโจทก์ที่ 2 ย่อมหมดสภาพจากการเป็นทนายของโจทก์ที่ 2 และล่วงเลยเวลาที่ทนายโจทก์ที่ 2 จะจัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ที่โจทก์ที่ 2 มอบหมายแก่ตน จนกว่าจะมีผู้เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 แล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8537/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 5, 29
นาย ก. สามีชอบด้วยกฎหมายของนาง ล. ผู้ตาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาง ล. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 291 นาง ล. จึงเป็นผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงตาย และโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้จัดการแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้วตายลงระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมไม่เสื่อมเสียไปเพราะความตายของโจทก์ และถือว่าโจทก์ฟ้องนั้นเป็นกระทำการแทนรัฐด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้สืบไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบแล้ว

โจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหาย มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องแล้วตายลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหายกับโจทก์ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1303/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 5, 15, 29
ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 29 ซึ่งบัญญัติเรื่องการเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1303/2551
จ. ยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นสามีของโจทก์ร่วมขอเข้ารับมรดกความของโจทก์ร่วมซึ่งถึงแก่ความตาย เท่ากับ จ. ขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีในฐานะผู้จัดการแทน ส. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จ. ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมตาม มาตรา 29 เพราะโจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้จัดการแทน ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5884/2550
ป.วิ.อ. มาตรา 5, 29

โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบิดาเด็กหญิง ร. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ก็โดยฐานะเป็นผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาล โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงแก่ความตาย ส. ภริยาโจทก์ร่วมที่ 2 หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ


ฎีกา คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
มาตรา 193 ทวิ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12058/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ, 195, 225
เมื่อพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์โดยตลอดแล้วแสดงว่าโจทก์มีเจตนาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น มิใช่โจทก์มีเจตนาที่จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินกว่าสามปี การต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการตัดสิทธิคู่ความจึงต้องพิจารณาด้วยความเคร่งครัดโดยถือเจตนาของโจทก์เป็นสำคัญ เมื่ออุทธรณ์โจทก์มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุก ซึ่งเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 158, 193 ทวิ
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6022/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังจำเลยแทน แม้โทษที่จะรอการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้จะต้องเป็นโทษจำคุกเท่านั้นก็ตาม แต่การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุกก็เท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยไม่ได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังก็หาได้เป็นคำพิพากษาที่มิชอบไม่ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดเจนโดยไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6736/2552
ป.วิ.อ. มาตรา 185, 193, 193 ทวิ, 195, 225

ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีกำหนดอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) แต่โจทก์ได้ตัวจำเลยมายังศาลโดยยื่นฟ้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ชอบที่ศาลจะยกฟ้องเสียตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 แม้ความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 100 บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ กับปรากฏในอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายข้างต้นยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดเพราะเหตุใด อันเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาฎีกา คดีต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
ป.วิ.อ.
มาตรา  220

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15358/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 220
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึง 8 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ แม้จะอาศัยเหตุผลต่างกัน แต่ผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 มา จึงเป็นการไม่ชอบ

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11985/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 220
คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแจ้งความร้องทุกข์และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามความเข้าใจของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ประทับฟ้องและโอนคดีไปให้ศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีไปนั้นเป็นการไม่ชอบ จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ และพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12662/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 220, 221
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ แม้เหตุที่ยกฟ้องจะต่างกันโดยศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์อาศัยข้อเท็จจริง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฟ้องโดยข้อกฎหมายก็ตาม ก็ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 โจทก์ฎีกาโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้อนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9984/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 220
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องแม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี แต่ศาลอุทธรณ์ก็ให้เหตุผลในการจำหน่ายคดีว่า เป็นเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นเช่นกัน มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2950/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 220
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
แม้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก็ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2582/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 220
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาฆ่า แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาฆ่าเช่นกัน และเนื่องจากศาลชั้นต้นวางโทษปรับฐานพาอาวุธมีดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้แก้ไขให้ถูกต้องย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ซึ่งต้องห้ามทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 คดีโจทก์ไม่อาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาและถือไม่ได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นในข้อหาฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาโจทก์

7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2390/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 220
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 288, 289, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ด้วย จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 โจทก์จึงฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 อีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 โจทก์คงฎีกาได้เฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288

8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1827/2552
ป.วิ.อ. มาตรา 220
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมเมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า กรณีดังกล่าวทำให้หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป พิพากษายืน ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9280/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 220
โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 220

10.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  238/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 220
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 220

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มาตราสำคัญ วิธีพิจารณาความอาญา (เนติฯ)

แยกเป็นรายข้อ
รวบรวมจากสถิตมาตราที่เคยออกสอบบ่อย


ข้อ 1-2

ข้อความทั่วไป มาตรา  *2(4),  *2(7),  2(10),  2(11),  2(16)

ผู้มีอำนาจจัดการแทน มาตรา  3,  4,  5,  6

เขตอำนาจสอบสวน มาตรา  17  18,  19(3)(4)  วรรคหนึ่ง  19  วรรคสอง  (ก) (ข),

                                      20  วรรคหนึ่ง  วรรคห้า  (1),  วรรคหก

เขตอำนาจศาล             มาตรา  22(1),  23,  24(1)  วรรคหนึ่ง,  26

การฟ้องคดีอาญา          มาตรา  28(1)(2),  *29,  *30,  *31,  32,  34,  *35,  *36,  *37  *38

                                   ***39(1)(2)(3)(4)

คดีแพ่งเกี่ยวเขื่องคดีอาญา มาตรา  40,  43,  44,  44/1,  46,  51


ข้อ  3  สอบสวน

หลักทั่วไป               มาตรา  120,  121,  123,  124,  126,  129

การสอบสวน *มาตรา  133  ทวิ  วรรคหนึ่ง,  วรรคสี่,  *133  ตรี  **134  *134/1,  *134/,  *134/3,

                                *134/4,

การดำเนินคดีหลังการสอบสวน มาตรา  140,  141,  *142,  **143,  145,  147

การชันสูตรพลิกศพ มาตรา  150  วรรคสาม  วรรคสี่  วรรคห้า,  155/1


ข้อ  4  การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น

การฟ้องคดีอาญา  การแก้ไขคำฟ้องและการไต่สวนมูลฟ้อง

มาตรา  158(5)(6)(7),  161,  162,  163,  164,  165  วรรคสอง  วรรคสาม,

                               **166, 170

การพิจารณา                     มาตรา  172,  173,  173/1,  173/2,  176

คำพิพากษาและคำสั่ง มาตรา  184,  186(9),  190,  **192


ข้อ  5  อุทธรณ์  ฎีกา

อุทธรณ์ มาตรา  193  ทวิ,  193  ตรี,  195,  196,  202,  212,  213

ฎีกา                       มาตรา  218,  219,  219  ตรี,  220,  221

ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์

                             ป.วิ.พ.  มาตรา  225  วรรคหนึ่ง  หรือ  249  วรรคหนึ่ง  ประกอบ  ป.วิ.อ.มาตรา  15

คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

                               มาตรา  245  วรรคสอง


ข้อ  6  สิทธิมนุษยชน

จับ มาตรา  66(1)(2),  67,  68

การจับโดยไม่มีหมาย มาตรา  78(1)(3),  79,  80,  81

การค้น มาตรา  92  (1)(2)(3)(4)(5),  93,  94,  96(1)(2)(3),  102

ถูกคุมขังมิชอบ    มาตรา  90

ถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุมห้ามมิให้รับฟังโดยเด็ดขาด    มาตรา  84  วรรคท้าย



ข้อ  7  พยานแพ่ง

การวินิจฉัยข้อเท็จจริง มาตรา  84(1)(2)(3)

ภาระการพิสูจน์  มาตรา  84/1

ห้ามมิให้รับฟังพยานหลักหลักฐาน

มาตรา  87(1)(2)

ยื่นบัญชีฯพยาน มาตรา  88

พิสูจน์ต่อพยานฯ มาตรา  89

ส่งสำเนาเอกสาร มาตรา  *90,  ยกเว้น  (1)(2)

การอ้างเอกสาร มาตรา  **93  (2)(4)

ห้ามนำสืบพยานบุคคลแก้ไขข้อความในเอกสาร  ในกรณีที่กฎหมาบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง

มาตรา  *****94

การนำพยานเอกสารมาสืบ  มาตรา  123,  125,  127



ข้อ  8  พยานอาญา

การพิจารณา มาตรา  172,  172  ตรี  วรรคท้าย,  173,  173/1  วรรคหนึ่ง,  173/2  วรรคหนึ่ง

พยานหลักฐาน มาตรา  *226,  *226/1,  *226/2,  **226/3,  *226/5,  227/1

พยานบุคคล มาตรา  232,  233  วรรคสอง,  237  วรรคสอง,  237  ทวิ  วรรคหนึ่ง,

การยื่นบัญชีระบุพยานแยกเป็น  2  กรณี  คือ

1.  กรณีที่ศาลไม่ได้กำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐาน  ใช้มาตรา  229/1

2.  กรณีที่ศาลกำหนดให้มีวันนัดตรวจพยานหลักฐาน  ใช้มาตรา  173/2  วรรคสอง  วรรคสาม

ขอให้ทุกท่านโชคดีในการสอบ

ฎีกา คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ.มาตรา 219 ตรี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
มาตรา 219 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2393/2542
ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี, 221
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ซึ่งในกรณีนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้ศาลรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณา ของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดไว้ได้ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 20 ปี เคยเข้าศึกษาระดับวิทยาลัย ปัจจุบันมีการงาน เป็นหลักแหล่งมั่นคง ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำมิใช่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดร้ายแรง จำเลยที่ 1 ไม่เคย ต้องโทษจำคุกมาก่อน หากให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัวเป็น พลเมืองดีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้จะได้รับผลดีกว่าการที่จะ ลงโทษกักขังแทนโดยจำคุก แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบ จำ และปรามมิให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดในลักษณะนี้อีก จึงเห็นควร ลงโทษปรับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  437/2542
ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี, 221
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี และในกรณีนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงคำอนุญาตของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจึงไม่มีผลทำให้จำเลยทั้งสามมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5524/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี, 221
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น แต่จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 ตรีไม่ได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังจำเลยแทนโทษจำคุก และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรีการที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1444/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี, 221
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ซึ่งในกรณีนี้มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษปรับจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และการอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้

มาตราสำคัญ วิธีพิจารณาความแพ่ง (วิแพ่ง) (เนติฯ)

รวบรวมจากสถิตมาตราที่เคยออกสอบบ่อย


แยกเป็นรายข้อ



ข้อ  1  บททั่วไป

บทวิเคราะห์ศัพท์  มาตรา  1(3),  (5),  (10),  (1)

เขตอำนาจศาล  มาตรา  **4(1)(2),  **4 ทวิ,  4 ตรี,  4 จัตวา,  4 เบญจ,  5,  7(1)(2)

อำนาจและหน้าที่ของศาล  มาตรา  18  วรรคสอง  วรรคสี่,  24, **27

การนั่งพิจารณา  มาตรา  42

คู่ความ  มาตรา  *55,  56,  57,  **58,  **59

การยื่นและส่งคำคู่ความ  มาตรา  76,  79


ข้อ  2  คำพิพากษาและคำสั่ง

หลักทั่วไปว่าด้วยการชี้ขาดตัดสินคดี  มาตรา  132(1),  142,  **144,  *145,  **148,  156,  156/1



ข้อ  3  วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น  มาตรา  172  วรรคสอง,  ***173  วรรคสอง(1),  174,  175,  176,  177  วรรคสอง  วรรคสาม,  ***179 (1)(2)  วรรคสาม,  ***180



ข้อ  4  วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น

การพิจารณาคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ  มาตรา  197,  198,  198 ทวิ,  199,  199 ตรี,  199 จัตวา
199 เบญจ  วรรคสี่

การขาดนัดพิจารณา  มาตรา  200,  201,  202  203,  204,  206  วรรคสาม  วรรคสี่  (1) (2),  207



ข้อ  5  อุทธรณ์และฎีกา

อุทธรณ์  มาตรา  223,  **224,  **225,  **226,  **227,  **228,  **229,  **232,  **234,  **236

ฎีกา  มาตรา  **248,  **249,  **252



ข้อ  6  วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี

วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี  มาตรา  253,  253ทวิ,  **254(1)(2)  วรรคสอง,  260(1)(2), **264

คำขอในเหตุฉุกเฉิน  มาตรา  266,  *267



ข้อ  7  การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

หลักทั่วไป  มาตรา  ***271,  ***287,  ***288,  ***289,  *290,   296  วรรคสอง  วรรคสาม,  306,  309  วรรคหนึ่ง,  *309ตรี


ขอให้ทุกท่านโชคดีในการสอบ

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา ละเมิด ป.พ.พ. 420

ฎ.10256/2556  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกับโจทก์ โดยไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด โจทก์ให้จำเลยทำนาในที่ดินพิพาทต่อมา ภายหลังโจทก์แจ้งให้จำเลยออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินแก่ บ. จำเลยไม่รู้จักโจทก์และไม่มีเจตนาขายฝากที่ดินให้แก่โจทก์ การขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลถึงขนาดต่อจำเลย ทำให้นิติกรรมการขายฝากเป็นโมฆะทั้งหมด โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมาย ดังนี้ คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยขายฝากที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลต่อจำเลย อันจะทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยมิได้ให้การว่า ใครเป็นคนทำการฉ้อฉลและจำเลยถูกกลฉ้อฉลอย่างไร จึงทำให้การขายฝากตกเป็นโมฆะ คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าการขายฝากเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลต่อจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยกรณีไม่มีการฉ้อฉลต่อจำเลย การขายฝากจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงต้องเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทได้


ฎ.2845/2556  การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมเป็นการกระทำโดยชอบ เพราะเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตนทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต การใช้สิทธิเช่นนี้ไม่เป็นการผิดกฎหมายเว้นแต่จะปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต
            การที่โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาข่มขู่ ขู่เข็ญให้เกิดความกลัว ดูหมิ่นซึ่งหน้าและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องเรียนจำเลยต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยในเรื่องเดียวกัน ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์หมิ่นประมาทจำเลย จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานหมิ่นประมาท มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยปั้นเรื่องขึ้นฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันไม่สุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


ฎ.21908/2555  การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานรับของโจร เป็นการกระทำเพื่อรักษาสิทธิและชื่อเสียงในทางการค้าของตนโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ส่วนขั้นตอนหลังจากจำเลยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้น ตามกฎหมายก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับการร้องทุกข์ที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการได้ตรวจสำนวนดังกล่าวเห็นว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ จึงฟ้องโจทก์ต่อศาล ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยในฐานะผู้เสียหายคดีอาญาได้อาศัยกระบวนการดังกล่าวจงใจกลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ การที่จำเลยใช้สิทธิของตนในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาโจทก์ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากพยานบุคคลที่อ้างว่าเห็นการกระทำของโจทก์ดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยสุจริตไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์