วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา ส่วนควบ ป.พ.พ. 144, 146

ฎีกา  ส่วนควบ  ป.พ.พ.  144,  146


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15233/2553

          โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดินแล้ว ยอมให้สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินตกเป็นเจ้าของที่ดิน ดังนั้นเมื่อครบอายุสัญญาเช่าที่ดิน สถานีบริการน้ำมันรวมทั้งส่วนควบ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อถังน้ำมัน 9 ถัง ฝังอยู่ใต้พื้นดินและป้ายโฆษณาใหญ่ที่ปักยึดติดลงไปในดินอย่างมั่นคง ซึ่งตามสภาพจึงเป็นสาระสำคัญของการประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันไม่อาจแยกออกจากสถานีบริการน้ำมันได้ นอกจากการขุดทำลายพื้นผิวของสถานีบริการน้ำมัน จึงถือว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมันย่อมตกเป็นของเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนได้ ส่วนถังน้ำมันสำหรับใส่น้ำมันเสีย ฮ้อยท์ยกเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ปั๊มลม ถือไม่ได้ว่าเป็นสาระสำคัญของสถานีบริการน้ำมันและตู้จ่ายน้ำมัน แม้จะเป็นส่วนสาระสำคัญในการให้บริการจำหน่ายน้ำมัน แต่มีลักษณะที่มิได้ยึดติดแน่นกับที่ดินหรือสถานีบริการน้ำมันเป็นการถาวร สามารถยกเคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องทุบทำลาย จึงไม่ถือเป็นส่วนควบของสถานีบริการน้ำมัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งคืนแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2553

          แม้ในการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างพิพาท ผู้ร้องกับจำเลยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งปลูกสร้างนี้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7412 ซึ่งจำเลยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายฝากให้แก่ผู้ร้องแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อบ้านเลขที่ 50 อยู่บนที่ดินดังกล่าวมาก่อน และจำเลยยังได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่ผู้ร้องด้วย สิ่งปลูกสร้างจึงเป็นส่วนควบของที่ดินซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น เช่นนี้ การที่โจทก์นำยึดสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2551

         น. ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2577/2551

          จำเลยปลูกสร้างบ้านคอนกรีต 2 ชั้น บนที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ บ้านหรือโรงเรือนที่จำเลยปลูกสร้างขึ้น แม้ใช้บันไดเพื่อขึ้นชั้นที่ 2 ของอาคารด้วยบันไดเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์รวมตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่จำเลยสร้างขึ้นใหม่ บ้านดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551

          บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551

          การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6194/2550

          บ้านของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดปลูกสร้างอย่างแน่นหนาถาวรบนที่ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานถูกห้ามโอนตามกฎหมาย บ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมถูกห้ามโอนด้วย แม้โจทก์จะอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ประสงค์จะยึดบ้านพิพาทอย่างสังหาริมทรัพย์ โดยในการขายทอดตลาดผู้ที่ซื้อทรัพย์จะต้องรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินไปเอง ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการได้เมื่อกำหนดเวลาห้ามการโอนผ่านพ้นไปแล้วเสียก่อน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทในระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย กรณีจึงมีเหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4260/2550

          เดิมที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท. ต่อมาผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ทำสัญญาให้ ธ. เช่าที่ดินมีกำหนด 20 ปี การที่ ธ. ปลูกสร้างตึกแถวลงบนที่ดิน จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากผู้จัดการมรดกของ ท. ระหว่างอายุสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถว แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดิน ธ. ย่อมหมดสิทธิในที่ดินต้องรื้อถอนตึกแถวออกไป เว้นแต่ ธ. ยินยอมให้ตึกแถวตกเป็นของโจทก์ ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์ได้รับมอบสิทธิในตึกแถวแล้ว ตึกแถวย่อมกลายเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ธ. ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวไม่มีอำนาจให้เช่าห้องพิพาทเกินกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดิน เมื่อสัญญาเช่าที่ดินครบกำหนดแล้ว ระยะเวลาการเช่าห้องพิพาทส่วนที่เกินกว่านั้นย่อมไม่ตกมายังโจทก์ตามมาตรา 569 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทอีกต่อไป แต่จำเลยไม่ยอมออกไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2545

          การซื้อขายอาคารอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่คู่สัญญามีความประสงค์จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 นั้น ถ้าตราบใดที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าทีให้เสร็จเรียบร้อย การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เว้นแต่จะปรากฏว่าอาคารได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกสร้างในที่ดินได้ อาคารที่จำเลยปลูกสร้างจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายระหว่างผู้ร้องและจำเลยคงมีฐานะเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายซึ่งสามารถใช้บังคับกันต่อไปได้เท่านั้น กรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังเช่นกรณีการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่คู่สัญญามิได้มีความประสงค์ที่จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และแม้จำเลยจะมอบอาคาให้ผู้ร้องครอบครองก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยกรรมสิทธิ์ในอาคารยังคงเป็นของจำเลยอยู่ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เพราะยังชำระราคากันไม่ครบผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดอาคารขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2549

          การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมการศาสนาโดยมีข้อตกลงให้โจทก์สร้างอาคารห้างสรรพสินค้าบนที่ดินเช่าด้วยทุนทรัพย์และสัมภาระของโจทก์และให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมการศาสนาทันทีที่ลงมือปลูกสร้าง แล้วโจทก์มีสิทธิเช่าอาคารดังกล่าวมีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่กรมการศาสนาได้รับมอบอาคารนั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามสัญญาเช่าใช้สิทธิปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินที่เช่า อาคารที่สร้างขึ้นจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ประกอบมาตรา 144 วรรคสอง กรมการศาสนาจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด 


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7193/2547

          การที่ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ปลูกต้นยางพาราลงในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตเหมืองแร่ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือประทานบัตรตาม พ.ร.บ. เหมืองแร่ฯ มาตรา 73 ไม่ทำให้ต้นยางพาราที่ปลูกไว้เป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ยางพารายังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้ถือประทานบัตร การที่จำเลยกรีดเอาน้ำยางพาราจากต้นยางพาราของโจทก์ไปจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2546

          จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อก่อสร้างโครงเหล็กติดตั้งป้ายโฆษณา เมื่อสัญญาเช่าที่ดินเลิกกันแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 คือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา 146