วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฎีกา พิพากษาเกินคำขอ ป.วิ.อ. มาตรา 192

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง พิพากษาเกินคำขอ
มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  20388/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17323/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง, 192 วรรคสี่
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันพยายามลักรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพยายามลักแฮนด์รถจักรยานยนต์ ก็ไม่ถือว่าข้อแตกต่างนั้นเป็นข้อสาระสำคัญ เพราะแฮนด์รถจักรยานยนต์ถือเป็นอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ และการกระทำของจำเลยที่จับแฮนด์รถจักรยานยนต์กระแทกคอรถไปมาเป็นการกระทำต่อตัวรถจักรยานยนต์ที่มุ่งประสงค์จะลักแฮนด์รถจักรยานยนต์เป็นอย่างเดียวกันหาใช่เป็นทรัพย์คนละชิ้นคนละอันกันไม่ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลจึงสามารถลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  16255/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยชก ต่อย และเตะ โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยขับรถยนต์พุ่งชนท้ายรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมจนรถล้มทำให้ศีรษะของโจทก์ร่วมกระแทกกำแพงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยและรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
พิพากษาศาลฎีกาที่  16081 - 16083/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ศาลฎีกาพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 356 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8927/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องระบุการกระทำความผิดว่าจำเลยทั้งสามหลอกลวงให้ลงทุนในบริษัท อ. ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 90,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิด ส่วนการติดต่อชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้จ่ายเงินจำนวน 1,462,500 บาท เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง และโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6505/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง, 195 วรรคสอง, 215
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อสาระสำคัญของการกระทำความผิดว่าจำเลยกระทำโดยประมาทด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงสี่แยก แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยจอดรถอยู่ที่สี่แยกและเพิ่งขับรถเคลื่อนที่เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมองไม่เห็นมิใช่เพราะการขับรถเร็วหรือไม่ชะลอความเร็วตามฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ทั้งเป็นข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5846 - 5847/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ฉะนั้นหากปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจร อันเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสาม จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม