วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา หักกลบลบหนี้ มาตรา 341 344

มาตรา 341, 344

ฎ.5970/2555  ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติ การหักกลบลบหนี้ไว้ว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยการหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในข้อใดเลยว่าการหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน เมื่อหนี้ทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นหนี้เงินและต่างถึงกำหนดที่จะชำระแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้โดยไม่ต้องให้โจทก์ให้ความยินยอม


ฎ.3486/2554  สัญญาจำนำสิทธิการรับเงินฝากคืนไม่ใช่เป็นการจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 747 หากแต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วย่อมใช้บังคับได้
          การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้และโจทก์กับพวกให้การต่อสู้คดี เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกชำระหนี้แล้ว และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน ดังนี้ หนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองจึงหาใช่เป็นหนี้ที่มีข้อต่อสู้อันจะไม่สามารถหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ไม่


ฎ.145/2554  คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างในงานที่ทำให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยฎีกาขอให้นำเงินค่าปรับที่ศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระแก่จำเลยในอีกคดีหนึ่งมาหักกลบลบหนี้ในคดีนี้ ดังนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ต้องชำระค่างานแก่โจทก์กับความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องชำระค่าปรับแก่จำเลยเกิดจากสัญญาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างผูกพันในหนี้อันเดียวกัน จึงหาใช่เป็นการหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 344 ห้ามมิให้หักกลบลบหนี้หากสิทธิเรียกร้องนั้นยังมีข้อต่อสู้อยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ยกขึ้นปรับแก่คดีไม่ เมื่อจำเลยและโจทก์ต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันในแต่ละคดีซึ่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาต้องกระทำแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ จำเลยจะขอหักหนี้ได้เพียงใดหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

ฎีกา การปลดหนี้ มาตรา 340

มาตรา 340

ฎ.14144/2553  จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247


ฎ.2111/2551  เจ้าหนี้และลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 จึงเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ประกอบมาตรา 229, 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 ในคดีแพ่ง ก็คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดหนี้ไปเท่านั้น ส่วนลูกหนี้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ดังนั้น หากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป และมิใช่กรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกันลูกหนี้ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 101 เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้


ฎ.2551/2544  จำเลยและ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การชำระหนี้อย่างอื่น มาตรา 321

มาตรา 321

ฎ.1528/2554  ป.พ.พ. มาตรา 761 มิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องนำดอกผลนิตินัยอันเกิดจากทรัพย์ที่จำนำไปหักจากจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เพียงแต่หากเจ้าหนี้ใช้สิทธิดังกล่าว จะต้องนำดอกผลนิตินัยไปหักออกจากหนี้ตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือแจ้งการปลดหนี้และหลักประกัน และในท้ายหนังสือฉบับนี้ยังระบุว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามซึ่งข้อกำหนดในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาปลดหนี้ โดยมีเงื่อนไขครบถ้วนทุกประการ จึงต้องถือว่าหนี้ทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความ ทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุว่าให้นำเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้แก่จำเลยที่ 1 อีกด้วย และในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ในวันที่ 27 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 6 บาท ดังนั้น ดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นที่โจทก์จำนำไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ระงับไปทั้งหมดแล้ว รวมทั้งหลักประกันต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 เคยมีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะนำเงินปันผลมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินปันผลที่รับไว้แก่โจทก์

ฎ.9053/2552  ตาม ป.พ.พ. หมวด 5 เรื่อง ความระงับหนี้ มาตรา 321 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าชำระหนี้ด้วยออก - ด้วยโอน - หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คพื่อชำระหนี้ค่าจ้าง เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการที่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อศาลแขวงธนบุรี ในการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 โจทก์ฟ้องคดีนี้นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


ฎ.10227/2551  การนำสืบการชำระหนี้โดยนำเงินฝากเข้าบัญชีให้โจทก์ และการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นผู้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แทนโจทก์ เป็นการนำสืบการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่การนำสืบการใช้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดง ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบได้

ฎีกา การยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ มาตรา 308

มาตรา 308

ฎ.5292/2555   ข้อต่อสู้ที่ลูกหนี้มีต่อผู้โอนซึ่งยกขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ ให้การ นำสืบ และอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินกู้ ไม่ได้เป็นหนี้ตามฟ้อง เป็นการยกข้อต่อสู้เกี่ยวกับสภาพแห่งหนี้ว่าไม่สมบูรณ์บังคับไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นอ้างได้

วิธีการโอนสิทธิเรียกร้อง มาตรา 306

มาตรา 306


ฎ.12753/2555  การโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าช่วงระหว่าง ว. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เช่าหรือผู้โอนสิทธิกับโจทก์ผู้รับโอนสิทธิ เมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว การโอนสิทธิย่อมสมบูรณ์ โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยชอบ และการที่โจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิดังกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ทราบเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จึงยกการรับโอนสิทธิดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้และเรียกค่าเช่าช่วง ที่จำเลยค้างชำระจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง

ฎ.9691/2554  แม้ขณะจำเลยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้อง จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ชนะการประมูลงานรับเหมาก่อสร้างได้ โดยยังมิได้ทำสัญญาจ้างและเริ่มทำงาน ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างเมื่อทำงานเสร็จแล้ว สิทธิดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และเมื่อ ป. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่วแล้ว พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตรา ถือว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้

ฎ.2193/2554  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโอนสิทธิเรียกร้อง (ในประเทศไทย) แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ถึงที่ 5 เข้าทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และภายหลังจำเลยที่ ขายโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีต่อจำเลยที่ 6 และที่ 7 แก่โจทก์ ก่อนฟ้องคดีนี้ทนายความโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ตามฟ้องที่จำเลยที่ 6 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้นั้นให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 6 ได้รับแล้ว และจำเลยที่ 6 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2541 ปฏิเสธว่าไม่เคยซื้อสินค้าและไม่เคยเป็นหนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ หนังสือของทนายโจทก์ที่ทวงถามให้จำเลยที่ 6 ชำระหนี้ตามฟ้องก่อนที่จะฟ้องคดีนี้ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก แล้ว

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การโอนสิทธิเรียกร้อง มาตรา 303

มาตรา 303
ฎ.3845/2556 การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้รวมทั้งหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ถือว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามมาตราดังกล่าว ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2540 ก็หาได้หมายความว่าคู่สัญญาไม่สามารถโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ด้อยคุณภาพตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายที่ตราไว้เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด


ฎ.2520/2556  การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 ในค่าก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 และยังไม่ทราบจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ จึงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้จำนวน 10,250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากจำเลยที่ 2 ทั้งหมดตามสัญญาจ้างเผื่อไว้ โดยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ระบุว่าหากเงินที่ได้รับโอนตามสิทธิเรียกร้องเกินกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ให้โจทก์คืนส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ในวันที่โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามจำนวนค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อไปจากโจทก์เท่านั้น แม้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 3 จะมีข้อตกลงว่า หากเกิดความเสียหายใดๆ แก่ผู้รับโอนอันเนื่องมาจากการรับโอนสิทธิในการรับเงินรายนี้ ผู้โอนยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับโอนทั้งสิ้นก็ตาม ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยินยอมผูกพันยอมชำระหนี้แก่โจทก์แม้จะได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงผิดแผกแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือเป็นข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็สมบูรณ์ตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้แย้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์



วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดในส่วนเท่า ๆ กัน ป.พ.พ. 296

ฎีกา  ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดในส่วนเท่า ๆ กัน  ป.พ.พ.  296


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12168/2553

          ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน จำนวน 8,500,000 บาท ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7108/2551

          ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า บิดาและมารดามีหน้าที่ร่วมกันในการให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะทำนองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หาใช่เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวไม่ ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การกำหนดความรับผิดเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายดังกล่าวอาจกำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถึงแม้โจทก์และจำเลยจะแยกกันอยู่และโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยกับโจทก์ก็ตาม เมื่อมิได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพื่อแบ่งส่วนตามความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าและโจทก์นำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วยเพื่อปฏิเสธที่จะไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ แม้จำเลยจะได้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ดังที่จำเลยอ้างก็เป็นเรื่องให้การศึกษาซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าอุปการะเลี้ยงดู จำเลยก็จะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหาได้ไม่ ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูเห็นสมควรเป็นจำนวนเพียงใดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/2538 ทั้งศาลจะสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/2539


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549

          โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2544

          จำเลยและ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293

ฎีกา อายุความคุณและโทษเฉพาะลูกหนี้ร่วม ป.พ.พ. 295

ฎีกา  อายุความเป็นคุณและโทษเฉพาะลูกหนี้ร่วม  ป.พ.พ.  295


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2550

          โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงแตกต่างกัน สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่ออายุความฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 สามารถแยกออกจากกันได้ตามมาตรา 295 ที่กำหนดให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2542

          จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปีย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2540

          รถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ถูกรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนพุ่งชนได้รับความเสียหาย โจทก์ได้เสียเงินซ่อมแซมรถยนต์เก๋งไปแล้วจึงขอรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องจำเลยที่ 1ให้รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ขับรถยนต์คันที่ก่อเหตุละเมิดและให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนดังนั้นการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงแตกต่างกันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ส่วนจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตามมาตรา 882 วรรคแรก อายุความฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างของผู้ทำละเมิดขาดอายุความ1 ปี จึงย่อมเป็นคุณเฉพาะแต่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยคดีนี้ความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2536 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537เป็นการฟ้องภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยการฟ้องร้องจำเลยที่ 2จึงไม่ขาดอายุความ

ฎีกา เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่ง ป.พ.พ.293

ฎีกา  เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่ง  ป.พ.พ.293


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553

          จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2544

          จำเลยและ ส. ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของบริษัท ถ. จำกัด โดยยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยและ ส. ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยได้ขายที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้ไป และ ส.ได้ชำระหนี้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์ได้ออกหนังสือปลดหนี้แก่ ส. แล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสองเมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อ ส. ย่อมมีผลทำให้หนี้ส่วนที่เหลือสำหรับส. ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 293


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6829/2543

          แม้นางสาวสุพรรณีกับจำเลย และผู้ค้ำประกันคนอื่น ๆ จะร่วมกันค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คของบริษัทถุงกระดาษไทย จำกัด ด้วยกัน และโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากนางสาวสุพรรณีบางส่วน กระทั่งโจทก์ปลดหนี้ให้โดยได้ถอนฟ้องนางสาวสุพรรณีในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ได้นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 23817/2532 ที่พิพากษาตามสัญญายอม โดยนางสาวสุพรรณีมิได้ร่วมเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ นางสาวสุพรรณีจึงมิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง แม้โจทก์จะปลดหนี้ให้แก่นางสาวสุพรรณีก็ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และมาตรา 293


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2540

          โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงความเป็นไปที่จำเลยทั้งสองเข้าผูกพันในเช็คร่วมกับผู้ออกเช็ค ตลอดจนการรับชำระหนี้โดยระบุจำนวนและลำดับการชำระหนี้ไว้ชัดแจ้งแล้ว ส่วนข้อที่ว่าในการบังคับชำระหนี้ตามลำดับดังกล่าวนั้นจะถูกต้องหรือกระทำโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายศาลจะต้องวินิจฉัยปรับบทชี้ขาดต่อไป ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ท. เป็นผู้ค้ำประกันที่ยอมผูกพันตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม มีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้นเหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของ ท. จะเป็นผลให้จำเลยที่ 1ในฐานะลูกหนี้หลุดพ้นไปด้วยนั้นย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 685 คือ จะหลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ ท. ได้ชำระหนี้ ส่วนหนี้ที่เหลือนั้นจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์การที่บุคคลภายนอกชำระหนี้แทน ท. ไปเท่าใดจึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดย ท. และมีผลให้จำเลยที่ 1หลุดพ้นเพียงเท่าจำนวนนั้นหนี้ส่วนที่ ทง ยังมิได้ชำระ แม้โจทก์จะไม่ติดใจเรียกร้องจาก ท. ไม่ว่าในรูปปลดหนี้หรือประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้รายเดียวกับที่ ท. ค้ำประกันจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อ ท. โดยบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ที่ตนค้ำประกันเต็มจำนวนตามที่โจทก์เรียกร้องแล้วทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สละสิทธิต่อ ท. มีผลให้หนี้ระงับสำหรับท. ย่อมมีผลให้หนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 และมาตรา 293 จำเลยที่ 2จึงหลุดพ้นไปด้วย



ฎีกา ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้ ป.พ.พ. 292

ฎีกา  ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งชำระหนี้  ป.พ.พ.  292


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551

          เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ร. ผู้สลักหลังย่อมทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. และจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก
          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด แต่สำหรับคดีนี้มูลหนี้เดิมตามเช็คพิพาทได้ระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ร่วมคนอื่นในมูลหนี้เดียวกันย่อมระงับสิ้นไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2545

          นอกจากมีบริษัท ส. เป็นผู้ค้ำประกันหนี้บางอันดับแล้ว ยังมีบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันร่วมอีกด้วย เช่นนี้หากผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ย่อมมีผลถึงลูกหนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2542

          เมื่อโจทก์และ ส. ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของบริษัท ล.ในวงเงิน 1,000,000 บาท ความรับผิดของโจทก์และ ส.ย่อมจำกัดอยู่เท่าวงเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ บริษัทล. ต้องรับผิดต่อจำเลย แต่ไม่เกินอัตราที่จำเลยมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย การที่ ส. ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้จำเลย 1,800,000 บาท และจำเลยปลดหนี้ให้ ส. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 ทำให้โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับ ส. ได้ประโยชน์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง,293


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5392/2539

          ข้อตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระหนี้จำนองแทนจำเลยครึ่งหนึ่งก็ก่อให้โจทก์ทั้งสองเกิดสิทธิจะรับโอนที่ดินตามข้อตกลง เช่นนี้ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระหนี้จำนองครึ่งหนึ่งแทนจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าวนั้นโจทก์ทั้งสองจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจะต้องชำระหนี้สิ้นเชิงอันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 ชำระหนี้จำนองตามข้อตกลงย่อมมีผลเป็นการชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 2 ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา ลูกหนี้ร่วม ป.พ.พ. 291

ฎีกา  ลูกหนี้ร่วม  ป.พ.พ. 291


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2552

          สามีจำเลยกู้เงินโจทก์ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันในการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หนี้กู้ยืมเงินจึงเป็นหนี้ร่วมของสามีจำเลยและจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องลูกหนี้ทุกคนพร้อมกันให้ชำระหนี้เป็นส่วนๆ หรือจะฟ้องลูกหนี้ทีละคนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551

          แจ้งแก้ไขข้อมูลแม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2551

          เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ร. ผู้สลักหลังย่อมทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. และจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คได้อีก
          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด แต่สำหรับคดีนี้มูลหนี้เดิมตามเช็คพิพาทได้ระงับสิ้นไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ร่วมคนอื่นในมูลหนี้เดียวกันย่อมระงับสิ้นไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง



วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การเพิกถอนการฉ้อฉล ป.พ.พ. 237, 238, 240

ฎีกา  การเพิกถอนการฉ้อฉล  ป.พ.พ.  237, 238, 240


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556

          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19413/2555

          แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่าเป็นการขายก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวบรวมเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจาก ม. จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงโอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมิใช่เป็นการซื้อขายเพราะมิได้มีการชำระราคากันจริง แต่ถือเป็นการให้โดยเสน่หา ส่วนการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 หาเงินมาไถ่ถอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดาของจำเลยที่ 4 จะถือเอาการที่ต้องไถ่ถอนจำนองเองเป็นค่าตอบแทนการโอนหาได้ไม่ เมื่อเป็นการโอนให้โดยเสน่หา แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียว โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนทรัพย์ดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15037/2555

          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14094/2555

          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา อันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ จ. เสียเปรียบ กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 237 แล้ว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จ. ซึ่งเป็นสามีภริยากันตามที่ได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ถึง (4) อันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวร่วมกับ จ. ซึ่งจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2555

          จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่าทำให้โจทก์ไม่อาจที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพิพาท ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอจะชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีรายได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7824/2553

          การทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานดำเนินการรับจดทะเบียนได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเรื่องที่โจทก์แจ้งสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคขอให้ระงับการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์เรือก่อนจดทะเบียน ต้องถือว่าขณะทำนิติกรรมจำเลยที่ 2 รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงใช้สิทธิขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์เรือระหว่างจำเลยทั้งสองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3975/2553

          การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951/2553

          จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทุกเดือน และในระหว่างผ่อนชำระโจทก์จะไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับเอาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยังไม่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์นั้น ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมใดอันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการฉ้อฉล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6514/2550

          เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2544 และการร้องขอให้เพิกถอนการโอนต้องนับถึงวันที่ยื่นคำร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนต่อศาลชั้นต้นวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงเหตุแห่งการเพิกถอนแล้วจึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10252/2546

          เอกสารหมาย จ. 4 เป็นหนังสือทั่วไปที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ ของธนาคารจำเลยที่ 4 รวมทั้งแจ้งถึงผู้จัดการธนาคารอื่นว่า จำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นตามบัญชีรายชื่อผู้ค้างชำระภาษีอากรดังกล่าว มีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหรือไม่ หากมีเป็นเงินฝากประเภทใด เลขที่บัญชีใด จำนวนเท่าใด แล้วแจ้งให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 ทราบ โดยไม่ได้แจ้งว่าโจทก์กำลังจะบังคับชำระหนี้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนรับจำนอง ที่ดินพิพาทโดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 4 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2540

          โจทก์มีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1ให้เสร็จเด็ดขาดไป เหตุที่ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันนัดเกิดจากการบิดพลิ้วของจำเลยที่ 1ที่ไม่ไปตามกำหนดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่โจทก์ และตั้งแต่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจนกระทั่งขายให้จำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองแทน ผิดปกติวิสัยผู้ที่ทำการซื้อขายที่ดินกันโดยทั่วไป ไม่น่าเชื่อว่ามีการซื้อขายกันโดยสุจริตการที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ได้ลาภงอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237หมายถึงผู้ที่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรงส่วนบุคคลภายนอกในมาตรา 238 เป็นผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินพิพาทของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จึงเป็นบุคคลภายนอกตามความหมายของมาตรา 238หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237 ไม่

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ ป.พ.พ. 233, 234, 235, 236

ฎีกา  การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  ป.พ.พ.  233, 234, 235, 236


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549

          ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546

          ขณะที่มีการชำระบัญชี บริษัท ท. ยังเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างแก่โจทก์อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นการที่ผู้ชำระบัญชีของบริษัท ท. แบ่งเงินอันเป็นสินทรัพย์ที่เหลืออยู่ของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นไป ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะรับไว้โดยสุจริตหรือไม่ ก็เป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1269 และถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินส่วนแบ่งดังกล่าวมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินส่วนแบ่งดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่บริษัท ท. ผู้เป็นเจ้าของเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
          กรณีที่บริษัท ท. โดยผู้ชำระบัญชี ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนแบ่งที่ได้รับไปคืน หรือเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้ โดยต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และ 234


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540

          จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกันและเป็นหนี้เงินเหมือนกันทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วย  จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่1เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์แต่จำเลยที่1ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่2ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่1เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่1ในนามของโจทก์เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่2เช่นนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา233และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา236 กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้นเว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้วปรากฏว่าจำเลยที่1เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่2ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่2จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่1ขึ้นต่อสู้โจทก์โดยขอหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341และ342ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2523

          เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในนามตนเองแทนลูกหนี้โดยฟ้องคดีขอไถ่ทรัพย์ที่ลูกหนี้ขายฝากไว้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้วไม่ได้ เพราะลูกหนี้ไม่มีสิทธิไถ่คืนแล้ว
          การที่ก่อนครบกำหนดไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้มีหนังสือแจ้งขอสวมสิทธิไถ่ทรัพย์แทนผู้ขายฝากซึ่งเป็นลูกหนี้นั้น ถือไม่ได้ว่าผู้มีสิทธิในการไถ่ทรัพย์ได้ใช้สิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืน เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การรับช่วงสิทธิ ป.พ.พ. 226, 227, 229

ฎีกา  การรับช่วงสิทธิ  ป.พ.พ.  226, 227, 229


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554

          สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯ มีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯ เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ จะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ เป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ สหกรณ์ฯ จึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ เป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 229
          เมื่อจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
          คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์เก็บบรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 วรรคหนึ่งด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8010/2548

          โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์คันเกิดเหตุที่หายไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์คันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2548

          การที่ ว. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์และ ย. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อต่างขับแซงรถยนต์กระบะที่แล่นอยู่ด้านหน้าและรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันที่บริเวณกลางถนน ต้องถือว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ ว. และ ย. ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของ ย. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546

          โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆเพราะการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย และสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิที่เจ้าของมีอยู่ไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันชอบที่จะใช้สิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามมาตรา 226 เท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ที่โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้วโดยผลของมาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2554

          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2551

          เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์ยืมมาจากมารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเนื่องจากความผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่รับจ้างกรมทางหลวงจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 643 แม้โจทก์จะซ่อมรถยนต์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2548

          จำเลยขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของ ส. ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ซึ่งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี นอกจากพนักงานสอบสวนจะทำบันทึกแจ้งข้อหาจำเลยเป็นคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับอันทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ ส. และจำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้แสดงว่า ส. และจำเลยตกลงกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ทำให้ ส. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของ ส. จะรับช่วงสิทธิของ ส. ได้เพียงเท่าที่ ส. ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น แม้ ส. จะทำบันทึกตกลงกับจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็ตาม แต่ ส. เป็นผู้ได้รับความเสียหายกรณีละเมิดถูกรถยนต์จำเลยเฉี่ยวชน ย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลยด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อ ส. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของ ส. ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไปเป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ที่โจทก์ทำไว้กับ ส. เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12168/2553

          ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน จำนวน 8,500,000 บาท ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2552

          บริษัท ป. ประกอบกิจการสายการเดินเรือรับส่งสินค้าโดยมีโจทก์เป็นตัวแทน โจทก์ออกใบตราส่ง ใบเสร็จรับเงินค่าระวางขนส่ง ค่าภาระหน้าท่า และค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่งแทนบริษัท ป. ดังนั้นบริษัท ป. จึงเป็นคู่สัญญากับผู้ส่งสินค้าในสัญญารับขนของทางทะเลและเป็นผู้ขนส่งสินค้าที่แท้จริง เมื่อโจทก์เป็นเพียงตัวแทนของสายการเดินเรือของบริษัทดังกล่าว โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่กรณีที่โจทก์อาจรับช่วงสิทธิได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2111/2551

          เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยยอมรับผิดต่อบริษัท ท. อย่างลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา 229 และมาตรา 296 การที่บริษัท ท. ยอมรับการชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท และปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้เพียงเท่าส่วนของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ปลดไปเท่านั้น ส่วนลูกหนื้ที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท ท. อีกต่อไป เพราะหนี้ส่วนที่เหลือสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ระงับไปแล้วตามมาตรา 340 ดังนั้นหากต่อมาเจ้าหนี้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. ไปเพียงใดก็ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ที่ 2 ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2550

          ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ อ. เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินแก่ อ. ไปตามคำพิพากษาแล้วย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 และสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 คือวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ อ.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549

          โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2697/2548

          บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่บิดามารดากับบุตรสามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกันได้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูมีบทบัญญัติมาตรา 1565 ซึ่งกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยกคดีขึ้นว่ากล่าวแล้วยังกำหนดให้บิดาหรือมารดาสามารถนำคดีขึ้นว่ากล่าวได้เองด้วย
          บทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296
          โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อนนับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522
          การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2547

          โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง ชำระค่าเช่าจำนวน 3 งวดต่อโจทก์ที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงรับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในอันที่จะใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 เรียกร้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แก่ตนได้โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) โดยไม่ต้องอาศัยหลักฐานหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด



ฎีกา ดอกเบี้ยผิดนัด ป.พ.พ. 224

ฎีกา  ดอกเบี้ยผิดนัด  ป.พ.พ.  224


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2055/2554


          กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2547) ออกตามความใน พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าใช้น้ำบาดาลในแต่ละงวดให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มงวดถัดไป ถือว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก นับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวด มิใช่นับแต่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10651/2553

          หนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสองได้เรียกให้จำเลยใช้เงินในกรณีนี้แก่โจทก์ทั้งสองในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ใช้ให้ อันเป็นเหตุให้จำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 415 วรรคสอง และตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10022/2553

          ตามหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันผิดนัดซึ่งหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีดังกล่าวให้ชดใช้เป็นรายเดือน กำหนดชำระเสร็จใน 12 เดือน เริ่มชดใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 เป็นต้นไป อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด แม้ไม่ได้ระบุว่าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเวลาที่ตกลงไว้แม้แต่งวดหนึ่งงวดใดก็ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ไม่ใช่ผิดนัดเฉพาะเพียงงวดนั้นแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551

          ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2551

          ตามสัญญาโฆษณากำหนดวันชำระหนี้ไว้ว่า ชำระเงินหลังวันโฆษณาภายใน 30 วัน ส่วนวันโฆษณาคือวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540 ดังนั้น วันครบกำหนดชำระเงินคือภายในวันที่ 3 และ 8 มกราคม 2541 จึงถือได้ว่ามีกำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนตามปฏิทิน แต่เมื่อพนักงานของโจทก์ไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยระบุในใบรับวางบิลว่า โปรดมารับเงินวันที่ 13 มีนาคม 2541 โจทก์มิได้ทักท้วง แสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาโฆษณา เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปจำเลยจะผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ได้



วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ป.พ.พ. 219

ฎีกา  การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย  ป.พ.พ.  219


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149/2554

          แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีสถานีบริการอื่นมาเปิดใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันบางจากของจำเลยที่ 1 ก็เป็นวิสัยของการประกอบการที่จะต้องมีการแข่งขัน ไม่ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2552

          โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งวิทยุแฝงในแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดหาสินค้าดังกล่าวตามสัญญาส่งมอบให้แก่โจทก์ การที่บริษัท ด. ผู้ผลิตสินค้าไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ส่งออกสินค้า จึงเป็นความผิดของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยไม่ ทั้งมิใช่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ และทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2551

          ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้แจ้งให้ราษฎรในท้องที่ที่น้ำจะท่วมทราบถึงความรุนแรงของภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นโดยถูกต้องและทั่วถึงแล้ว ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 เริ่มขนย้ายข้าวเปลือกไปเก็บรักษาที่อื่นก่อนถูกน้ำท่วมเพียง 3 วันจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือละเลยเพิกเฉยไม่ป้องกันความเสียหายก่อนที่น้ำจะท่วมโรงสี และการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนข้าวเปลือกให้แก่โจทก์ได้ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 219


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2549

          แม้กระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ยังสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการและอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคตหากแก้ไขฐานะและการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ได้สำเร็จ และกระทรวงการคลังได้แจ้งให้ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลไปติดต่อเพื่อขอรับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ได้ตามปกติเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทแก่โจทก์ตามกำหนดจึงไม่ใช่กรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยเนื่องจากจำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 วรรคสอง
          การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดแล้ว เกิดจากจำเลยที่ 1 ถูกกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระหนี้เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2546

          การเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางคนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้เหมือนเช่นปกติแต่จะถือเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง เสียทีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยเฉพาะจำเลยที่ 1ได้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืมไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้บังคับชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213,728 การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในวิสัยที่พึงปฏิบัติได้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไปจะอ้างวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศมาปลดเปลื้องเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากการบังคับคดีไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2546

          จำเลยซื้อผ้าไปจากโจทก์ การที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพราะผู้ซื้อผ้าจากจำเลยอีกทอดหนึ่งมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งการประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนเป็นปกติทางการค้าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546

          การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกของโจทก์ให้จำเลยสีเป็นข้าวสารแล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์ โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าว ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง เมื่อขณะที่ไฟไหม้โรงสีไม่มีข้าวเปลือกแล้วมีแต่ข้าวสาร แสดงว่าข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว เมื่อที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารให้แก่โจทก์ได้เนื่องมาจากไฟไหม้โรงสีของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใดจึงถือไม่ได้ว่าเหตุที่เกิดไฟไหม้โรงสีนั้นเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ การชำระหนี้ของจำเลยด้วยการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2545

          จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อที่ยอมให้บุคคลอื่นใช้รถที่เช่าซื้อ เมื่อการปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเหตุให้รถที่เช่าซื้อ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลางในคดีอาญา จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ยอมไปขอรับรถที่ถูกยึดคืน จำเลยจึงหลุดพ้นจากการต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หรือไม่ต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ไม่ได้ กรณีมิใช่เป็นการชำระหนี้พ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 219 อันจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4968 - 5050/2543

          โจทก์ทั้งแปดสิบสามตกลงจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของจำเลยที่ 1โดยมีข้อจำกัดสิทธิเกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นและยอมให้จำเลยที่ 1 นำหุ้นที่ยังไม่มีสิทธิจำหน่ายออกขายแก่บุคคลอื่น หากโจทก์ทั้งแปดสิบสามต้องพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ก่อนครบกำหนดสามปีนับแต่วันปิดการจองซื้อ ซึ่งโจทก์ดังกล่าวจะได้รับเงินค่าหุ้นคืนเท่ากับราคาจองซื้อพร้อมดอกเบี้ยภายใน 1 เดือน นับแต่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีภาระหรือมีหน้าที่ที่จะต้องนำหุ้นดังกล่าวออกขายแก่บุคคลอื่นด้วย เมื่อกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินหรือค้าหลักทรัพย์ได้ตามปกติ ถือได้ว่าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้อันเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคสอง จำเลยที่ 1จึงหลุดพ้นจากการชำระหนี้และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงหรือยกเลิกเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ระบุในบันทึกการเสนอขายหุ้นโดยพลการจำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระเงินค่าหุ้น ค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์ดังกล่าว

วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา กำหนดเวลาชำระหนี้ ผิดนัดชำระหนี้ ป.พ.พ. 203, 204

ฎีกา  กำหนดเวลาชำระหนี้  ผิดนัดชำระหนี้  ป.พ.พ.  203, 204


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12264/2555

          สำเนาใบกำกับภาษีระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าทุกฉบับ และยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีรายการหักทอนกันระหว่างโจทก์และจำเลยหลายรายการ ระบุยอดสุดท้ายว่าเป็นรายการที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ คงเหลือ 314,965.05 บาท เท่ากับรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้ ปรากฏว่ามีการส่งอะไหล่ครั้งสุดท้ายระบุวันที่ 18 ตุลาคม 2540 โดยไม่ปรากฏว่าได้มีกำหนดเวลาชำระค่าอะไหล่กันไว้ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก ดังนั้น ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย หรือมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นการจัดทำขึ้นหลังจากขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพความรับผิดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ประกอบมาตรา 193/28 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2554

          สินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทที่บรรทุกในระวางเรือหมายเลข 5 มีเพียงสินค้าของบริษัท บ. กับของจำเลย โดยมีแผ่นพลาสติกทอปูกั้นสินค้าของแต่ละฝ่ายไว้ สินค้าของบริษัท บ. อยู่ด้านบน ส่วนสินค้าของจำเลยอยู่ด้านล่าง ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนัก 4,400 เมตริกตัน เท่ากัน และการฉีกขาดของแผ่นพลาสติกเกิดขึ้นในขณะที่ยังขนถ่ายสินค้าของบริษัท บ. ออกจากระวางเรือไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือในระวางเรือไปทั้งหมด และจำเลยได้รับสินค้าเกินกว่าที่ระบุในใบตราส่งไป 60.24 เมตริกตัน เชื่อว่าสินค้าของบริษัท บ. ได้ปะปนไปกับสินค้าที่จำเลยได้รับไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้มาซึ่งสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน ของบริษัท บ. โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บริษัท บ. เสียเปรียบ บริษัท บ. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ในฐานะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการสูญหายของสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์
         แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท บ. ไปเป็นเงิน 470,315.31 บาท ก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ได้คิดคำนวณราคาจากสินค้าที่สูญหายไป 65.03 เมตริกตัน เมื่อจำเลยได้รับสินค้าของบริษัท บ. ไว้เพียง 60.24 เมตริกตัน หากจำเลยไม่สามารถคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ราคาแทนโดยคำนวณราคาจากสินค้า 60.24 เมตริกตัน เท่านั้น ขณะที่จำเลยรับสินค้ามีการขนถ่ายขึ้นจากเรือ ซ. ลงเรือลำเลียง ยังไม่มีการตรวจสอบปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า อันถือได้ว่าจำเลยได้รับสินค้าพิพาทไว้โดยสุจริต และการครอบครองสินค้าพิพาทของจำเลยก่อนมีการทวงถามให้คืนเป็นไปโดยสุจริตตลอดมา แต่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าโดยอ้างสิทธิเหนือสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนด 7 วัน ที่จำเลยต้องคืนสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้วจำเลยยังเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11036/2553

          สัญญาจะซื้อจะขายกำหนดวันชำระราคาและจดทะเบียนโอนว่าประมาณเดือนตุลาคม 2544 ไม่แน่ชัดว่าเป็นวันใดซึ่งอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในเดือนตุลาคม จึงเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จำต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยกำหนดเวลาชำระหนี้พอสมควร และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแล้ว การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ในวันกำหนดโดยที่โจทก์เตรียมพร้อมจะชำระหนี้ส่วนของตน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3353/2552

          สัญญากู้ยืมเงินกำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงเป็นการกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอน ส่วนทางปฏิบัติแม้จะมีการขยายเวลาให้ชำระกันบ้างก็ไม่มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2551

          เมื่อสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดอายุความการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2551

          โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโดยในสัญญากำหนดเรื่องการโอนไว้ว่า ผู้ขายจะโอนสิทธิให้ผู้ซื้อในภายหลังเมื่อผู้ซื้อต้องการให้โอน เป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับตามสัญญาเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 193/30


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550

          จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงในสัญญาระบุว่า "ข้อ 1 ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ข้อ 2 ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 ระวางที่ เลขที่ดิน 329 หน้าสำรวจที่ 943 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนที่ดินที่แบ่งแยกโดยประมาณ 4 ไร่ เรียบร้อยแล้ว" แสดงว่าหนี้ตามสัญญากู้เงินได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง แต่การกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใด เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7875/2549

          การซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดเวลาอันพึงชำระหนี้ไว้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ก็ย่อมชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สิทธิในการเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าจากโจทก์แต่ละคราว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2546

          สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้อันเกิดจากการใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการค้าหรือผู้ให้บริการ มิได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203
          สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บริการโทรศัพท์ แม้ตามเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวระบุให้ผู้ใช้บริการนำเงินค่าใช้บริการไปชำระให้แก่ผู้ให้บริการภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขของการบอกกล่าวเพื่อให้ชำระหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์ในแต่ละครั้ง เมื่อช่วงระยะเวลาที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์จนถึงวันฟ้องเกินกว่า2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ



วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา ผลของการเลิกสัญญา ป.พ.พ. 391

ฎีกา  ผลของการเลิกสัญญา  ป.พ.พ.  391


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2556

          แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้จำเลย แต่ตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เมื่อสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงจำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดแก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์มีต่อจำเลย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยก่อนสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14143/2555

          กรณีเป็นการเลิกสัญญาโดยสมัครใจซึ่งคู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าวบัญญัติถึงเงินที่ต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวนั้นให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย โดยให้คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ สำหรับการชำระหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานและดอกเบี้ย ป.พ.พ. มาตรา 329 ไม่ได้บังคับว่าลูกหนี้จะขอชำระหนี้อันเป็นประธานโดยยังไม่ชำระดอกเบี้ยไม่ได้เสียเลย เพียงแต่ให้สิทธิเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้หนี้อันเป็นประธานก่อนโดยยังไม่ชำระดอกเบี้ย เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้เท่านั้น
          คดีนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จำเลยได้รับเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินภาระจำยอมจากโจทก์ 6,749,540 บาท ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2547 โจทก์จำเลยสมัครใจเลิกสัญญาใช้ที่ดินภาระจำยอมดังกล่าวและจำเลยขอชำระต้นเงินจำนวน 6,749,540 บาทคืน โจทก์รับชำระไว้โดยไม่ได้บอกปัด จึงถือว่าโจทก์ได้รับชำระต้นเงินจำนวน 6,749,540 บาทแล้ว จำเลยจึงยังคงค้างชำระดอกเบี้ยซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2538 (ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับต้นเงินดังกล่าวจากโจทก์) ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยนำต้นเงินมาชำระคืนให้แก่โจทก์ เป็นเงินค่าดอกเบี้ยค้างชำระ 4,558,713.28 บาท เมื่อโจทก์รับชำระต้นเงินทั้งหมดไว้แล้วในวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 6,749,540 บาท ภายหลังวันที่ 11 มิถุนายน 2547 อีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2555

          การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้
          แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำการไม่ให้ผลของสัญญาบรรลุผลตามความประสงค์ของคู่สัญญาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอให้ศาลบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิมาฟ้องขอให้เลิกสัญญาโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554

          เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในข้อ 9 ระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์เสมอไปไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554

          จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
          การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2554

          เมื่อจำเลยยังไม่ได้แก้ไขอาคารให้เรียบร้อยก่อนการส่งมอบและจำเลยยังไม่ได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการอีกด้วย ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วสัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30