วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา ผลของการเลิกสัญญา ป.พ.พ. 391

ฎีกา  ผลของการเลิกสัญญา  ป.พ.พ.  391


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2556

          แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้จำเลย แต่ตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เมื่อสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงจำเลยมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใดแก่โจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์มีต่อจำเลย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยก่อนสัญญาตัวแทนประกันชีวิตสิ้นสุดลงได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14143/2555

          กรณีเป็นการเลิกสัญญาโดยสมัครใจซึ่งคู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามวรรคสองของบทมาตราดังกล่าวบัญญัติถึงเงินที่ต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวนั้นให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย โดยให้คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ สำหรับการชำระหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานและดอกเบี้ย ป.พ.พ. มาตรา 329 ไม่ได้บังคับว่าลูกหนี้จะขอชำระหนี้อันเป็นประธานโดยยังไม่ชำระดอกเบี้ยไม่ได้เสียเลย เพียงแต่ให้สิทธิเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้หนี้อันเป็นประธานก่อนโดยยังไม่ชำระดอกเบี้ย เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้เท่านั้น
          คดีนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จำเลยได้รับเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินภาระจำยอมจากโจทก์ 6,749,540 บาท ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2547 โจทก์จำเลยสมัครใจเลิกสัญญาใช้ที่ดินภาระจำยอมดังกล่าวและจำเลยขอชำระต้นเงินจำนวน 6,749,540 บาทคืน โจทก์รับชำระไว้โดยไม่ได้บอกปัด จึงถือว่าโจทก์ได้รับชำระต้นเงินจำนวน 6,749,540 บาทแล้ว จำเลยจึงยังคงค้างชำระดอกเบี้ยซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2538 (ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับต้นเงินดังกล่าวจากโจทก์) ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยนำต้นเงินมาชำระคืนให้แก่โจทก์ เป็นเงินค่าดอกเบี้ยค้างชำระ 4,558,713.28 บาท เมื่อโจทก์รับชำระต้นเงินทั้งหมดไว้แล้วในวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 6,749,540 บาท ภายหลังวันที่ 11 มิถุนายน 2547 อีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8235/2555

          การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน แจ้งต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกัน ส่งมอบกิจการและทรัพย์สินของห้างจำเลยที่ 1 ตามสัญญาให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยเท่ากับเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ ห. อ. ย. ป. และ จ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันตกลงทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าเป็นผู้บริหารกิจการห้างจำเลยที่ 1 อันเป็นการทำสัญญาโดยบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 390 คือ ต้องใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยบุคคลฝ่ายเดียวกันทั้งหมดรวมกันใช้ โจทก์เพียงคนเดียวในฐานะส่วนตัวไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยลำพังได้
          แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือกระทำการไม่ให้ผลของสัญญาบรรลุผลตามความประสงค์ของคู่สัญญาเป็นการเอารัดเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่าย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาหรือขอให้ศาลบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิมาฟ้องขอให้เลิกสัญญาโดยขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554

          เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม การที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในข้อ 9 ระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์เสมอไปไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2554

          จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์โดยชำระราคาเพียงบางส่วนจำนวน 300,000 บาท แล้วนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าที่ดินอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขายโดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนเท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญาอันมีผลให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกที่รับจำนองที่ดินไว้โดยมีมูลหนี้และโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ จึงต้องจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนอง
          การชำระหนี้ระหว่างคู่สัญญาเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 และมาตรา 369 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนที่ดินแก่โจทก์โดยติดจำนองซึ่งโจทก์อาจถูกบังคับจำนองเพื่อให้ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนอง โจทก์จะต้องคืนเงินค่าที่ดินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมที่ถูกต้อง การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการขอให้ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนโจทก์โดยติดจำนองและให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองครบถ้วนแล้วได้ แม้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้ฟ้องแย้งก็ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ. พ. มาตรา 142


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2554

          เมื่อจำเลยยังไม่ได้แก้ไขอาคารให้เรียบร้อยก่อนการส่งมอบและจำเลยยังไม่ได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการอีกด้วย ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้วสัญญาจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30