วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา อัยการขอคืนหรือใช้ราคาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง ฎีกา อัยการขอคืนหรือใช้ราคา
มาตรา 43

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  22267/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(7), 43, 44, 123
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15831/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43
โจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์กะบะราคา 840,000 บาท ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ รถยนต์คันนี้โจทก์ร่วมชำระเงินดาวน์และเงินผ่อนไป 196,000 บาท ปัจจุบันบริษัทประกันภัยจ่ายเงินให้แก่บริษัทไฟแนนซ์ไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท มิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11224/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44/1
การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4275/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 47
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 43
ความผิดฐานฉ้อโกงกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 2 ต้องจ่ายเงินให้แก่ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนจำเลยกับพวกนั้นเป็นไปตามสัญญาที่ผู้เสียหายที่ 2 มีกับร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต ความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับเป็นความเสียหายในทางแพ่ง ไม่ใช่ความเสียหายที่ได้รับจากการที่ถูกจำเลยกับพวกหลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยตรงต่อสถานที่รับบริการใช้บัตรเครดิต กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ไม่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยคืนเงินแทนผู้เสียหายที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  880/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44, 44/1, 43, 50
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้

ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12779/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 78, 92(4), 195 วรรคสอง

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710 บาท คิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1 จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้คืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้