วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฎีกา การขอค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง การขอค่าสินไหมทดแทน
มาตรา 44/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17584/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จ. มารดาผู้ตายจึงไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11224/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 43, 44/1
ป.พ.พ. มาตรา 440
การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9665/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 40, 44/1
ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 245(1)
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้เสียหายในอันที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง แม้ได้ความว่าโจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสแต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เพียงร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและพิพากษายกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ดังนี้ จึงชอบที่จำเลยที่ 1 จึงพึงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่โจทก์ร่วมถูกยิงจนได้รับอันตรายสาหัสอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นด้วยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยคดีส่วนแพ่งและยังคงบังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 กรณีดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  880/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44, 44/1, 43, 50
ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้

ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  295/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ 390 ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะเหตุรถยนต์ที่เฉี่ยวชนกระเด็นมาชนรถยนต์ของผู้ร้องที่จอดอยู่ ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายหรือเป็นผู้ได้รับอันตรายแก่กาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 39, 40, 43, 151 และ 157 เป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5419/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4), 44/1
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียง หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ซึ่งมาตรา 2(4) ให้ความหมายของคำว่า ผู้เสียหายว่า หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองต่างขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนในการกระทำความผิดทางอาญาด้วยดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ต้องพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนดไว้และข้อเท็จจริงในขณะที่ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้และขณะยื่นคำร้องจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6576/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 39(4), 44/1

ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ผู้เสียหายจะเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ก็ตาม เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) และคำขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนย่อมตกไปด้วย จึงต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ