วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ฎีกา สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ ป.พ.พ. 156

ฎีกา  สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ  ป.พ.พ.  156


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555

          การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2551

          จำเลยหลอกลวงเอาที่ดินที่ตนไม่มีสิทธิมาหลอกขายให้โจทก์ ทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองสามารถโอนสิทธิและนำไปออกเอกสารสิทธิได้ เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมสัญญา การซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 และต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550

          การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2548

          จำเลยมีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์จากการเป็นทนายความ จึงย่อมต้องมีความระมัดระวัง และมีความละเอียดรอบคอบในการทำสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสัญญาที่ผูกพันตนเอง ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะลงลายมือชื่อทำสัญญาในขณะที่ยังได้กรอกข้อความในเอกสารให้ครบถ้วน และแม้ในการขอกู้เงินจะกำหนดเวลาการผ่อนชำระหนี้ไว้เดือนละ 5,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 5 ปี แต่ต่อมาเมื่อทำสัญญาเงินกู้กันโดยได้มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ว่าจะชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ซึ่งจำแลยยินยอมลงลายมือชื่อโดยไม่โต้แย้งคัดค้านประการใด ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจยกเลิกกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงเดิมและกำหนดชำระหนี้กันใหม่ตามที่ระบุในสัญญากู้เงินคือชำระภายในกำหนด 1 ปี จำเลยจึงมิได้ทำสัญญาเงินกู้โดยสำคัญผิดในเงื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ หรือเพราะถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉลแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2546

          โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง