วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฎีกา การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ.มาตรา 144

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนในเรื่องดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ตามมาตรา144

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15791/2555
ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 144, 246, 247
เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีโดยอ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งการยึดทรัพย์และไม่แจ้งการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบ ทั้งการขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีซ้ำอีก แม้จะอ้างเหตุใหม่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาและบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยกขึ้นว่ากล่าวในคำร้องฉบับแรกได้อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ กรณีจึงถือว่าคำร้องฉบับหลังเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรกที่ขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีรายเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำร้องขึ้นอีกภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับแรกแล้วนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247


2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  125/2554
ป.วิ.พ. มาตรา 144, 148
มูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งต่างจากมูลหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีประเด็นแห่งคดีในมูลหนี้ทั้งสองย่อมต่างกัน คดีนี้จึงไม่อาจเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7844/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 144

ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 6 ในคดีของศาลแพ่งธนบุรีมีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้จริงหรือไม่ เมื่อศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยแล้ว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีของศาลแพ่งธนบุรีแต่เมื่อศาลแพ่งธนบุรีได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7112/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 144, 145
คดีเดิมโจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทรัพย์มรดก ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสามคนละส่วนเท่า ๆ กัน ต่อมาจำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาคดีหลังจึงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความในคดีว่าการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นไปโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 การที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องในคดีเดิมขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 แปลง ให้เหลือเฉพาะที่ดินแปลงเดิม แล้วให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดอีกเช่นนี้จึงเป็นการรื้อร้องกันอีกในประเด็นที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดมาแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามมาตรา 144