วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฎีกา คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนในเรื่อง คำสั่งระหว่างพิจารณา
มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12053/2554
ป.วิ.พ. มาตรา 56, 226, 227, 228
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ผู้เยาว์นี้เป็นคำสั่งในคดีที่ผู้เยาว์ขอให้แบ่งทรัพย์มรดก หาใช่เป็นอีกคดีหนึ่งไม่ และเป็นดุลยพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้ที่สมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของโจทก์ผู้เยาว์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ทั้งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย อีกทั้งมิใช่คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 หรือมาตรา 228 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13180/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 226(2), 227, 228
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดชี้สองสถาน ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจากโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนที่จะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 เพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 988/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยก็อ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับคดี ต้องไปว่ากล่าวกันในคดีเดิม จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความจากการสอบถามโจทก์จำเลย มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดี ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นเวลา 14 วัน โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9330 - 9333/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 183, 226, 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องโดยขอให้กำหนดประเด็นเพิ่มว่า จำเลยทั้งสามต่อเติมผนังคอนกรีตด้านหลังตึกแถวของจำเลยทั้งสามรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสุจริตหรือไม่ด้วย หากศาลไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงขอคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่า คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่ชัดแจ้งว่าจะต่อสู้ไปในทางใด จึงไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ ถือเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยทั้งสามต้องโต้แย้งคำสั่งชี้ขาดของศาลชั้นต้นนั้นไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง จึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้จำเลยทั้งสามจะถือเอาคำร้องของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลแล้วไม่ได้เพราะเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชี้ขาด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในปัญหาเรื่องนี้ให้จำเลยทั้งสาม โดยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ก็เป็นการไม่ชอบ เพราะต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวมิให้อุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสามถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8377/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 226, 229
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ส่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 มิใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18, 227, 228

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6017/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247
คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์นั้น เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีและมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 แห่ง ป.วิ.พ. จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247 จำเลยทั้งสองยังไม่มีสิทธิฎีกา แม้จำเลยทั้งสองจะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีสิทธิเพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาต่อไปเมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7126/2552
ป.วิ.พ. มาตรา 223, 226
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้จำเลยจะได้ยื่นคำคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ การที่จำเลยเพียงกล่าวอ้างปัญหาข้อนี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15019/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง, 226, 228(3)
ระหว่างพิจารณาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบพร้อมทั้งยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ส่วนคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3101/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 24, 226
ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา


กรณีที่ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7981/2551
ป.วิ.พ. มาตรา 27, 132(1), 174, 226(1)
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1) ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้วคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2548

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ขอ จึงไม่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณา