คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจเรื่อง การรับสารภาพในชั้นพิจารณา
มาตรา 176
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14552/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 176
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี
โดยมีและใช้อาวุธปืน มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ
โจทก์คงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ฟ้อง
และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้
แต่ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ
เพียงมีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับ
ก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14526/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 176, 226/3,
227/1
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี
ซึ่งมิใช่ภริยาของตนและพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี
แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง
หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ
และโจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ
ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องตามคำรับสารภาพ
ฎีกาของจำเลยที่ว่าไม่ได้กระทำความผิดจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นใหม่และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย
และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
เพิ่งมายกขึ้นว่ากันในศาลฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4177/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
และศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา
176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม
แต่เมื่อโจทก์สืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้อาวุธปืนดังกล่าวมาเป็นของกลาง
และโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้
ทั้งมิได้นำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนดังที่โจทก์ฟ้อง
จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2553
ป.วิ.อ. มาตรา 176, 208
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 240,
244 และ 341 โดยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240
ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป
หากจำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 เมื่อปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า
จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นจึงให้รอฟังคำพิพากษาและได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟังในวันนั้นเองโดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว
ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วโจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 240 ดังกล่าว โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป
เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลรับฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว
คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 208
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 244
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท
และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดในสองมาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย
และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน
หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้
ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 244 และมาตรา 341 ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้