วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

การนำสืบพยานเอกสาร มาตรา 94

การนำสืบพยานเอกสาร  มาตรา  94 

1.  กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจะนำสืบพยานบุคคลแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ได้ตาม 94(ข)
    1.1  สัญญากู้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11760/2554
ป.วิ.พ. มาตรา 94
                       โจทก์กับ อ. ต่างลงลายมือชื่อในสัญญากู้คนละฉบับ แต่สัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่มีข้อความแสดงว่า โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่า สัญญากู้ทั้งสองฉบับเป็นการที่โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ส่งผลให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับ อ. เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมพยานเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
           ข้อสังเกต  เรื่องการกู้ยืม  หากจำเลต่อสู้ว่า  สัญญากู้ปลอมหรือยังไม่ได้รับเงินซ฿่งเป็นการอ้างว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์  กรณีนี้นำสืบพยานบุคคลได้ตาม  94  วรรคท้าย
                        คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13825/2553
ป.พ.พ. มาตรา 650, 653 วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา 94
            โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
            ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง

    1.2  สัญญาจะซื้อจะขายที่ทำเป็นหนังสือ
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่  640/2555
ป.พ.พ. มาตรา 456
ป.วิ.พ. มาตรา 94
                            การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง เมื่อหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาและจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องฟังยุติตามนั้น การที่จำเลยทั้งสองนำพยานบุคคลมาสืบว่า ยังไม่ได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
                ข้อสังเกต  หากสัญญาซื้อขายนั้นสมบูรณ์ในแบบการวางมัดจำ  กรณีนี้นำสืบพยานบุคคลได้  เพราะมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง

    1.3  สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4694/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 84 เดิม, 142, 94
                        จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าเหตุที่ต้องทำสัญญาเช่าห้องแถวพิพาทกับโจทก์เนื่องมาจากไม่สามารถทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าได้ เพราะที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้รับฟังตามป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)

    1.4  ขายฝาก
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1510/2552
ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง, 491
ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข), 142(5)
                        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 บัญญัติว่า สัญญาขายฝากคือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อโดยมีข้อความตกลงว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์คืนได้ซึ่งตามมาตรา 456 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ การขายฝากที่ดินจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) คือ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกรณีขอสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น เมื่อตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินระบุว่าผู้ขายฝากได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากครบถ้วนแล้ว การนำพยานบุคคลมาสืบว่ายังได้รับเงินไม่ครบ ย่อมเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)


2.  กรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับหม้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง  กรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา  94  นำสืบพยานบุคคลได้
        2.1  นำสืบเรื่องตัวการตัวแทน
                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2303/2553
ป.พ.พ. มาตรา 806
ป.วิ.พ. มาตรา 94, 249
                                    จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ จึงเป็นเพียงนำสืบความจริงว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการเพื่อให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิดตามสัญญาแทนจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าที่ดินอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

          2.2  นำสืบว่าที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินเป็นของผู้ใด
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9176/2552
            ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่มิใช่กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงอันจะต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารซึ่งเป็นระวางรูปแผนที่ทางอากาศตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9765/2552
ป.วิ.พ. มาตรา 94
                             ปัญหาว่าที่ดินเป็นของผู้ใด ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำสืบได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารทะเบียนการครอบครองที่ดินได้

           2.3  สัญญาจ้างทำของ
                      คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6866/2552
ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข), 143 วรรคหนึ่ง
                               หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารนั้น เป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ฉะนั้น โจทก์จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมผิดไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
 
         2.4  การฟ้องเพิกถอนนิติกรรม
                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5027/2552
ป.วิ.พ. มาตรา 94
            โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ชำระราคาทรัพย์พิพาทที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ต่างไปจากราคาที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นการนำสืบถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 มาในราคาเท่าใด มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับตามหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)

3.  กรณีนำสืบพยานบุคคลตาม  94  วรรคท้าย
         3.1  นำสืบว่าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ตาม  93(2)
         3.2  นำสืบว่าเป็นเอกสารปลอมทั้งหมดหรือบางส่วน
         3.3  นำสืบว่าสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์  ฎ.13825/2553

         3.4  นำสืบสัญญานั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด